อีโบลา กำลังเป็นที่จับตามองของแพทย์ทั่วโลก เนื่องจากมีรายงานการระบาดหนักในปีนี้ และได้คร่าชีวิตผู้ป่วยชาวแอฟริกันไปหลายร้อยราย เชื้ออีโบลาไวรัสเป็นไวรัสอันตรายที่ติดต่อในคนและในสัตว์และอาจทำให้ผู้ติดเชื้อนั้นเสียชีวิต โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 60-90% ในปัจจุบันก็ยังไม่มีทางรักษาและยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ก่อนหน้านี้มีรายงานการระบาดเฉพาะในทวีปแอฟริกา ล่าสุดได้มีรายงานการระบาดหนักเกิดที่ไลบีเรีย, กีเนียและเซียราลีโอน ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่บริเวณตะวันตกของทวีปแอฟริกา
การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาหรือโรคไข้เลือดอีโบลา มีลักษณะแพร่เชื้อจากคนสู่คนผ่านทางการรับหรือสัมผัสของเหลวจากร่างกายผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเลือด น้ำลาย น้ำมูก เหงื่อ สารคัดหลั่งต่างๆ ตลอดจนเชื้ออสุจิ อย่างไรก็ดี ดังในข่าวที่มีการเตือนให้เฝ้าระวังผู้โดยสารที่เดินทางร่วมเครื่องบินกับผู้ป่วยไปนั้น ก็ยังถือได้ว่ามีโอกาสติดเชื้อต่ำ เนื่องจากเชื้ออีโบลาไม่ติดต่อกันทางอากาศที่หายใจร่วมกัน ในปัจจุบัน ยังคงไม่พบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาในประเทศไทย และโอกาสที่เชื้อจะเข้ามาระบาดในเอเชียนั้นมีต่ำ เพราะผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วมักอยู่ในสภาพร่างกายอ่อนแอเกินกว่าจะเดินทางได้ การแพร่ระบาดข้ามทวีปจึงเกิดขึ้นได้น้อย
การป้องกันการติดเชื้อไวรัสอีโบลา Ebola
– หลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวยังพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อ ก่อนจะไปเที่ยวให้ตรวจสอบพื้นที่ระบาดก่อนท่องเที่ยว
– ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆโดยใช้น้ำเปลา และสบู่ หรือใช้แอลกอฮอลล์สำหรับล้างมือหากไม่มีน้ำหรือสบู่
– ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดโรค
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย
– ผักและผลไม้ต้องล้างให้สะอาด
– หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ป่าอาหารป่า
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งเช่น น้ำเหลือง เลือด น้ำลาย น้ำจากช่องคลอด น้ำเชื้อของผู้ป่วย
– หลีกเลี่ยงของประจำตัวของผู้ป่วยเช่น เสื้อผ้า ผ้าคลุมเตียง เข็ม อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะอาจจะมีเชื้อปนเปื้อน
– สำหรับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะต้องสวมถุงมือ หน้ากากอนามัย เส้ือคลุ่ม แว่นตาเมื่อต้องดูแลผู้ป่วย
– ศพของผู้เสียชีวิตยังสามารถแพร่เชื้อได้ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
– ไม่นอนในโรงพยาบาลที่มีคนป่วยด้วยโรคอีโบลา
– หากอยู่ในแหล่งระบาดจะต้องเฝ้าดูอาการอีก 21 วัน