ภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในครั้งนี้แม้จะเป็น “ครั้งแรก” และหนักที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วบ่อยครั้งในต่างประเทศ แม้ภัยพิบัติจะเป็นสิ่งที่ “ไม่อาจคาดเดาได้อย่างแน่นอนชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด” แต่เท่าที่สังเกตเห็นในบางประเทศที่มีภัยพิบัติลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เขาจะมี “กฎหมาย” เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภัยพิบัติที่เป็นระบบโดยมีสาระสำคัญคือ “การวางแผนเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ” เอาไว้ “ล่วงหน้า” แผนเกี่ยวกับภัยพิบัติต่าง ๆ มักจะประกอบด้วยสาระสำคัญหลายส่วนด้วยกัน เช่น “แผนการดำเนินการป้องกัน แผนการบริหารจัดการขณะเกิดภัยพิบัติ แผนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ” รวมทั้งบรรดา “เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จะต้องมีเพื่อให้แผนทั้ง 3 บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ของแผน” เพื่อเตรียมที่จะรับมือกับสถานการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติหรือสงครามที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ก็ตาม แผนดังกล่าวจึงเป็น “เครื่องมือ” ที่ฝ่ายปกครองต้องจัดทำเพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ถูกต้องและเพื่อให้เกิดการดำเนินการที่จะสามารถ ”นำไปสู่การออกจากสถานการณ์วิกฤติ” ได้โดยเร็ว
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มีอยู่หลายประเภท มีทั้ง ”ภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ” ซึ่งมีอยู่หลายแบบ เช่น มรสุม พายุ แผ่นดินไหว และ “ภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์” ซึ่งก็มีอยู่มาก เช่น สงคราม การทดลองทางวิทยาศาสตร์ หรือการทดลองอาวุธสงคราม เป็นต้น ภัยพิบัติส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ชั่วคราวที่ “เกิดขึ้นอย่างผิดปกติและมีความร้ายแรง”ส่งผลกระทบต่อประชาชน ประเทศชาติ เศรษฐกิจ หรือสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงต้องมีการวางการดำเนินการในการแก้ไขผลของการเกิดภัยพิบัติเพื่อนำพาประเทศชาติกลับคืนสู่สถานะเดิมคือ การใช้ชีวิตอย่างปกติสุขของประชาชนในสังคม เนื่องจากการแก้ไขภัยพิบัติเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญต่อ “ความเป็นความตาย” ของผู้คนจำนวนมากและของอนาคตของประเทศ จึงต้องใช้คนที่มีความรู้ความสามารถจากหลาย ๆ สาขาให้มาร่วมมือกันวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ จัดลำดับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขที่ดีและเหมาะสมต่อไปการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติต่าง ๆ นั้น “แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย” แต่ก็เป็น “เรื่องที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้” เท่าที่อ่านพบจากบทความของต่างประเทศ เข้าใจว่า การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติขึ้นอยู่กับปัจจัยสองประการ คือ “การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบกับการสื่อสารที่ชัดเจน”